วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

หน่วยที่4

หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 -กฎหมายหลักที่ใช้ปกครองประเทศ

ทำไมประเทศไทยจึงมีรัฐธรรมนูญ 
                ประเทศไทยเป็นชุมชนทางการเมืองที่ร่วมกันสร้างโดยประชาชนมีดินแดนชัดเจนแน่นอน ประชาชนเหล่านี้ได้สร้างรัฐบาลเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้พ้นจากควบคุมของรัฐบาลภายนอก ในชุมชนดังกล่าวนี้รัฐบาลมีอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ ก็ได้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ใช้อย่างทั่วถึงกัน ซึ่งประกอบด้วย
                ๑. ประชากร มีที่อยู่อาศัย มีแหล่งทำมาหากิน
                ๒. ดินแดน มีอาณาเขตที่ชัดเจนแน่นอน 
                ๓. รัฐบาล ทำหน้าที่ดำเนินงาน ตามหลักนโยบายสาธารณะ เพื่อสนองเจตนารมณ์ของสาธารณชน
                ๔. อำนาจอธิปไตย เป็นที่รวมอำนาจของรัฐบาลเพื่อการบริหารและปกครองประเทศ
                ความหมายและที่มาของรัฐธรรมนูญ               
                รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุด ที่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างของรัฐบาล และกำหนดขอบเขตอำนาจของรัฐบาลที่กระทำต่อบุคคลในรัฐ สิทธิหน้าที่ของประชาชนที่มีต่อรัฐ
                ลักษณะของรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากกฎหมายธรรมดา ๓ ประการ คือ
                ๑. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีการเป็นพื้นฐาน (fundamental ) มากกว่ากฎหมายอื่นเป็นเพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่จัดตั้งและวางกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกลไกของรัฐบาลโดยทั่วไปและกำหนดขอบเขตของกฎหมายอื่นด้วย
                ๒. กฎหมายรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่ากฎหมายทั่วไป สำหรับกระบวนการเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีความยุ่งยาก  ต้องกระทำกันด้วยความรอบคอบ
                ๓. กฎหมายรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเหนือกว่ากฎหมายธรรมดา หากกฎหมายอื่นขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องถือว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นแบบฉบับที่ต้องยึดถือและกฎหมายนั้นย่อมตกไป
                ประเภทของรัฐธรรมนูญ 
                ประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้จะปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบเผด็จการต้องมีกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เช่น ประเทศไทยมีชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
                รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการร่างหรือเขียนขึ้นโดยมีจุดประสงค์ให้เป็นรัฐธรรมนูญ การยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญจะกระทำโดยคณะบุคคล คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือภายใต้ชื่อคณะกรรมการ หรือคณะทำงาน                 
               รัฐธรรมนูญแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มีลักษณะดังต่อไปนี้
                ๑. ไม่มีการร่างขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีสถานภาพเป็นรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
                ๒. สาระของกฎหมายกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ สำหรับรัฐธรรมนูญ แบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ปรากฏในบางประเทศ
                ๓. ประเภทรัฐธรรมนูญที่ใช้ชื่ออย่างอื่น เช่น
                รัฐธรรมนูญแบบจัดเป็นหมวดหมู่ (C0dified) หมายถึง รัฐธรรมนูญแบบสหรัฐอเมริกา
                รัฐธรรมนูญแบบกระจัดกระจาย (dispersed ) หมายถึง รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ
                อาจมีการแบ่งรัฐธรรมนูญอีกแบบหนึ่ง คือ เป็นแบบยืดหยุ่น (flexible) และรัฐธรรมนูญแบบ เข้มงวด หรือ รัฐธรรมนูญในกรอบ (rigid,inflexible) คือ พิจารณาการเปลี่ยนแปลงแก้ไข กระทำได้ง่ายหรือยากเป็นเกณฑ์ ปัจจุบันไม่นิยม
 ที่มาของรัฐธรรมนูญ
                การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศมีที่มาแตกต่างกันไป หากจำแนกประเภทของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ แบ่งได้ ๕ ประเภท คือ
                ๑. รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการ ประกอบด้วยหลักการซึ่งแฝงด้วยปรัชญาและทฤษฏีทางการเมือง ดังนั้นย่อมผ่านการวิวัฒนาการเป็นเวลาช้านาน เช่น รัฐธรรมนูญของอังกฤษมีลักษณะที่มีการสั่งสมมาจากอดีต
                ๒.รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากการปฏิวัติรัฐประหาร ในบางประเทศประชาชนไม่อาจรวมตัวกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากพระมหากษัตริย์ได้ จึงรวมตัวกันใช้อาวุธหรือใช้ความรุนแรง ล้มล้างอำนาจ ของกษัตริย์สถาปนาความเป็นรัฐขึ้นมาภายใต้ระบอบการปกครองแบบใหม่ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญตัวอย่าง เช่น กรณีการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. ๑๗๘๙
                ๓.รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากพระมหากษัตริย์พระราชทานให้ รัฐธรรมนูญของบางประเทศประมุขของรัฐเป็นผู้มอบรัฐธรรมนูญให้ กรณีพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ มอบรัฐธรรมนูญให้ชาวฝรั่งเศสหรือกรณีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย  
                ๔. รัฐธรรมนูญเกิดจากการสร้างหรือสถาปนารัฐใหม่  รัฐธรรมนูญในรูปแบบนี้เกิดขึ้นกรณีประเทศได้สถาปนาความเป็นรัฐใหม่   (ประกาศเอกราช)  กรณีประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคม เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น                        
                ๕. รัฐธรรมนูญเกิดจากประเทศผู้ยึดครองเป็นผู้มอบให้  เกิดจากการที่ประเทศผู้เข้ายึดครองประเทศเห็นสมควรมอบอำนาจให้ที่ถูกยึดครองเป็น ผู้ปกครองตนเอง เช่น กรณีญี่ปุ่น ที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังกลุ่มสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นผู้มอบรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่น (แต่จำกัดการก่อตั้งกองทัพญี่ปุ่น)  
 ลักษณะของรัฐธรรมนูญที่ดี
                รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของรัฐ โดยสาระของรัฐธรรมนูญมุ่งสร้างประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนภายในชาติ ลักษณะที่ดีของรัฐธรรมนูญ มี  ๕ ประการ คือ
                ๑. มีข้อความชัดเจนแน่นอน
                ๒. มีบทบัญญัติถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ชัดเจน
                ๓. เนื้อหาต้องครอบคลุมบทบัญญัติในการปกครอง ของรัฐไว้ครบ  
                ๔. ไม่ควรยาวเกินไป รัฐธรรมนูญที่ดีควรมีบทบัญญัติหลักการจัดรูปการปกครองของรัฐที่สำคัญและจำเป็น
                ๕. ต้องกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย
                เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ
                  ๑. อารัมภบท “ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลเป็นอดีตภาค ๒๕๕๐ พรรษา”
                 ๒. รูปแบบการปกครอง รัฐธรรมนูญมักระบุรูปแบบการปกครองไว้ด้วย เช่น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันมีระบุไว้ในมาตรา ๒ ว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                 ๓. โครงสร้างของรัฐบาล รัฐธรรมนูญส่วนมากจะกำหนดโครงสร้างของการบริหารประเทศ จะเป็นไปในรูปแบบใด
                 ๔. สิทธิของราษฎรและพันธะกรณีของรัฐบาล
                 ๕. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแก้ไขไว้ โดยวิธีการต่างๆ กัน เช่น อาจจะแก้ไขโดยผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ
                 ๖. บทเฉพาะกาล  รัฐธรรมนูญอาจกำหนดว่าในบางเรื่องหรือบางมาตราจะมีการบังคับใช้ในเวลาอันสมควร ซึ่งอาจระบุว่าเป็น ๒ ปี หรือ ๓ ปี เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น